Asia International Hemp Expo 2022 ติดปีกไทย..ฮับกัญชงแห่งเอเชีย

สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (Thai Industrial Hemp Trade Association: TiHTA) จับมือพันธมิตร 12 สมาคมอุตสาหกรรมการผลิต ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) เชื่อมโยงเครือข่ายการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงในภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ และการจัดงาน “Asia International Hemp Expo 2022” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกัญชงอย่างครบวงจร พร้อมติดปีกไทยสู่ฮับอุตสาหกรรมการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงของเอเชีย คาดสร้างรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี

นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TiHTA) เผยหลังจากที่รัฐบาลประกาศปลดล็อกกัญชงให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ครอบครอง และจัดจำหน่ายได้ ทำให้พืชกัญชงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในหลากมิติ แต่ด้วยพันธกิจของสมาคมที่ต้องการขับเคลื่อน กัญชงเชิงอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน จึงได้เริ่มความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนา คุณประโยชน์ของกัญชงสู่กระบวนการผลิต ต่อยอด และแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม Bio composite เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วัสดุก่อสร้าง และกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเปิดกว้าง ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล และอาจสร้างรายได้ป้อนอุตสาหกรรมกว่า 2 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี

สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย จึงได้ร่วมกับ 12 สมาคมในอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีความมุ่งหมายและการบูรณาการระหว่างสมาคมร่วมกัน เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การผลิตที่มีมาตรฐาน ในปริมาณและราคาที่บริหารจัดการได้ล่วงหน้า รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ของพืชกัญชงอย่างถูกต้อง ให้สอดคล้องกับแต่ละอุตสาหกรรม และสามารถเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจระหว่างกันของสมาชิกและเครือข่ายเพื่อเชื่อมทุกความเป็นไปได้ ในการทำให้ประเทศไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมกัญชงแห่งเอเชีย ผ่านงาน “Asia International Hemp Expo” ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยความร่วมมือกับสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย เพื่อบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากกัญชง ให้มีคุณภาพและสามารถผลิตแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านอาหารแปรรูป วัสดุและผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆ ของพืชกัญชง (ยกเว้นช่อดอก) แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรซึ่งกันและกัน รวมทั้งการจัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยใช้กลไก SDO (Standards Developing Organizations) เพื่อการรับรองคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้านวัตกรรม ที่เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถจดทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย และผลิตเพื่อจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมได้ นับเป็นการขับเคลื่อนกัญชงไปสู่พืชเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน

นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น. ซี. ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เผยถึงพิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในกิจกรรมการขับเคลื่อนและผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมกัญชงแห่งเอเชีย และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องต่ออุตสาหกรรมกัญชงของไทย โดยเริ่มจากการจัดงานแสดงสินค้า “Asia International Hemp Expo 2022” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่รวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพาะปลูกกัญชงอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ทั้งเทคโนโลยีการเพาะปลูก เทคโนโลยีการวิจัย ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สำหรับอุตสาหกรรมกัญชงในรูปแบบ B2B หรือ Business to Business ครั้งแรกของเอเชีย ครอบคลุม 12 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำกัญชงไปใช้ ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์และอากาศยาน อาหารเครื่องดื่ม อาหารเสริม การแพทย์ สปาและสมุนไพร เครื่องสำอาง แฟชั่นเสื้อผ้าและสิ่งทอ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์ อาหารสัตว์ เป็นต้น บนพื้นที่ส่วนแสดงกว่า 5,000 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแสดงจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 300 บริษัท และยังมีการจัดประชุมนานาชาติโดยวิทยากรจากทั้ง 5 ทวีป รวมถึงบริการจับคู่ทางธุรกิจ ส่วนแสดงพิเศษ และกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย สำหรับนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนมีความสำคัญต่อช่วงเวลาตั้งต้นของอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับในช่วงท้าย เสวนา“โอกาสของประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมกัญชงเอเชีย” โดย ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร และนายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ร่วมแชร์มุมมองถึงศักยภาพของพืชกัญชงสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ แนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน และองค์ประกอบของประเทศไทยในการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางกัญชงของเอเชีย